top of page

อาคารโบราณสถาน

๔. อาคารกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส
     (Headquarters Building)

             อาคารหลังนี้สร้างในราว พ.ศ. ๒๔๓๖ ช่วงที่ฝรั่งเศสยึดจันทบุรีเป็นประกัน (จากวิกฤตการณ์ รศ. ๑๑๒) สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นตึกกองบัญชาการและเป็นที่พักอาศัยของผู้บังคับการทหาร เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมชั้นเดียว หลังคาตัด

             ภายหลังที่ทางราชการไทยได้จัดการตั้งกองทหารเรือประจำจังหวัดจันทบุรีใน พ.ศ. ๒๔๔๙ (ร.ศ. ๑๒๕) พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ในขณะนั้นดำรงพระยศเป็นผู้บัญชาการทหารเรือชายทะเล ได้ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพอาคารหลังนี้ โดยก่อสร้างหลังคาและกั้นฝาเป็นห้องทับซ้อนบนหลังคาอาคารหลังนี้อีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากพระองค์มีพระประสงค์เพื่อใช้เป็นที่ประทับในคราวเสด็จออกตรวจราชการทหารเรือเป็นครั้งคราวเท่านั้น ภายหลังจากที่กองทหารม้ามาตั้งอยู่ที่อาคารหลังนี้ ได้ดัดแปลงอาคารโดยการรื้อถอนหลังคาตอนบนที่สร้างไว้เมื่อครั้งกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรออก เนื่องจากเครื่องบนชำรุดเสียหายและหากทำการซ่อมแซมต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก จึงได้รื้อถอนเสียทำให้อาคารหลังนี้กลับมามีสภาพเหมือนเมื่อครั้งกองทหาร ฝรั่งเศสสร้างไว้
            หลังจากการบูรณะโบราณสถานในค่ายตากสินครั้งใหญ่เสร็จสิ้น ใน พ.ศ. ๒๕๕๘ ทางมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมได้จัดนิทรรศการความสัมพันธ์ไทย – ฝรั่งเศสตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

P41.png


      สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สยามกับฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันตลอดรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทั้งในด้านการค้า ศาสนาและการทูต โดยมีคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ แต่เมื่อสิ้นสุดรัชกาล สมเด็จพระเพทราชาไม่มีพระราชประสงค์ที่จะสานต่อ ความสัมพันธ์จึงสิ้นสุดลง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ฝรั่งเศสกับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์อีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ความสัมพันธ์ไม่ได้ราบรื่น สยามต้องสูญเสียเขมรซึ่งเป็นประเทศราชของสยามให้ฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสต้องการลาวซึ่งเป็นเมืองขึ้นของสยาม จนเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ผลตามมาคือสยามต้องสละดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวไปจนถึงพรมแดนเขมร เสียค่าปฏิกรรมสงคราม อีกทั้งฝรั่งเศสยังยึดจันทบุรีไว้เป็นประกัน แต่ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขจนลุล่วงไปด้วยดีด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรขอให้รัฐบาลไทยจัดกองทหารไปร่วมรบเคียงข้างกับฝ่ายสัมพันธมิตร และส่งเรือมาลำเลียงกำลังพลจากไทยไปร่วมทำสงครามถึงเมืองมาร์แซลล์ ประเทศฝรั่งเศส รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยประกาศนโยบายเป็นกลางถือโอกาสเจรจาเรียกร้องดินแดนที่เคยเสียให้ฝรั่งเศสกลับคืนมา แต่ฝรั่งเศสไม่ประสงค์จะคืนให้ เกิดการสู้รบระหว่างกองเรือลาดตระเวนไทยและเรือรบของฝรั่งเศสที่เรียกว่า การรบที่เกาะช้าง หลังการรบไทยดินแดนคืนมาชั่วคราว แต่ต้องคืนกลับให้ฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรและฝ่ายชนะสงคราม

จัดแสดงความสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศสตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล 

06401.png
P46.png
P47.png
bottom of page