กระดานข่าว
วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ก.ย.๖๗ คณะครูและนักเรียนโรงเรียนวัดเกาะขวาง (สังวาลย์ราษฎร์รังสรรค์) ต.จันทนิมิต อ.เมือง จว.จันทบุรี ระดับชั้นอนุบาลปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖“จัดกิจกรรมทัศนศึกษาให้กับนักเรียนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ สร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้นอกห้องเรียนอันเป็นประโยชน์” เข้าศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเข้าเยี่ยมชมอาคารโบราณสถานภายในพื้นที่ค่ายตากสิน จำนวน ๑๓๘ คน
วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ก.ย.๖๗ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรีได้กำหนดจัดกิจกรรมจิตอาสา ๓ ศาสนาสามัคคี นำคณะครูและนักเรียนเด็กเยาวชน และศาสนิกชน ๓ ศาสนา “ภายใต้โครงการ ศาสนิกสัมพันธ์จังหวัดจันทบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๗” เข้าศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเข้าเยี่ยมชมอาคารโบราณสถานภายในพื้นที่ค่ายตากสิน จำนวน ๕๐ คน
วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ส.ค.๖๗ คณะครูและนักเรียนศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอนายายอาม อ.นายายอาม จว.จันทบุรี “จัดโครงการค่ายพัฒนาคุณภาพ ผู้เรียนรู้ศึกษาแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๗” เข้าศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเข้าเยี่ยมชมอาคารโบราณสถานภายในพื้นที่ค่ายตากสิน จำนวน ๕๐ คน
วันพุธที่ ๑๔ ส.ค.๖๗ คณะครูและนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ต.ท่าช้าง อ.เมือง จว.จันทบุรี ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ “จัดการเรียนรู้โดยใช้ Project based learning ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๗” เข้าศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเข้าเยี่ยมชมอาคารโบราณสถานภายในพื้นที่ค่ายตากสิน จำนวน ๓๐ คน
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ( รัชกาลที่ ๘ พ.ศ. ๒๔๗๗ - ๒๔๘๙ )
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
การรบที่เกาะช้าง
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
การเจรจาใช้เวลานานและไม่ประสบผลสำเร็จ ฝรั่งเศสเริ่มรุกรานประเทศไทยโดยส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนมในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสู้รบ ขณะเดียวกันกองทัพเรือได้เริ่มดำเนินการจัดส่งกำลังไปป้องกันตำบลคลองใหญ่ จังหวัดตราด อันเป็นตำบลชายแดนสุดเขตทางตะวันออกซึ่งติดกับเขตชายแดนอินโดจีนฝรั่งเศส มีการสู้รบรุนแรงที่ด้านใต้ของเกาะช้าง เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “การรบที่เกาะช้าง” การรบครั้งนี้ถือว่าเป็นการบทางทะเลครั้งเดียวในประวัติศาสตร์กองทัพเรือไทยและฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๒ กองทัพเยอรมนีรุกรานฉนวนโปแลนด์ อังกฤษและฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดให้เยอรมนีถอนทหารออกจากฉนวนโปแลนด์ แต่ฝ่ายเยอรมนีปฏิเสธ อังกฤษและฝรั่งเศสจึงประกาศสงครามกับเยอรมนี เมื่อสงครามเริ่มขึ้นประเทศคู่สงครามจึงแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายอักษะ ได้แก่เยอรมนี ญี่ปุ่น และอิตาลี กับฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ในเวลาต่อมาสงครามได้ขยายไปทั่วจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๔๘๘)
ญี่ปุ่นมุ่งขยายอำนาจไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นเขตอาณานิคมของฝ่ายสัมพันธมิตร รัฐบาลไทยเกรงอันตรายจากสงคราม จึงประกาศนโยบายเป็นกลาง ในขณะเดียวกันไทยก็พยายามรักษาไมตรีกับนานาชาติทุกฝ่าย สงครามโลกยังเปิดโอกาสให้ไทยกับฝรั่งเศสสามารถแก้ไขสนธิสัญญา (revision) ว่าด้วยดินแดนที่ไทยสูญเสียให้แก่ฝรั่งเศส ฝ่ายฝรั่งเศสก็ต้องการรักษาอาณานิคมของตนไว้ รวมทั้งดินแดนไทยที่เสียให้แก่ฝรั่งเศสตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ จึงขอทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกับไทยเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๒ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลตรีหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) นายกรัฐมนตรี (พ.ศ.๒๔๘๑ - ๒๔๘๗) ได้ถือโอกาสนั้นเรียกร้องขอดินแดนที่เสียไปกลับคืนมา ไทยพร้อมที่จะเจรจาทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศส โดยมีเงื่อนไขดังนี้
กำหนดร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขง เป็นเส้นกั้นเขตแดนไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสตามแบบแผนสากล
ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามหลวงพระบางและปากเซให้ไทย
ถ้าฝรั่งเศสไม่ปกครองแหลมอินโดจีนในอนาคตแล้ว จะคืนลาวและกัมพูชาให้ไทย
พื้นที่ปฏิบัติการ
เกาะช้างเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดทางฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทย ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งทางใต้ของแหลมงอบ มีฐานะเป็นตำบลในจังหวัดตราด ตัวเกาะทอดยาวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ – ตะวันออกเฉียงใต้ ยาวประมาณ ๓๐ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๑๔ กิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นภูเขาเกือบทั้งหมด มีที่ราบชายทะเลบางแห่ง ใกล้กับเกาะช้างมีเกาะใหญ่น้อยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เกาะหวาย เกาะลิ่ม เกาะง่าม เกาะไม้ซี้ใหญ่ เกาะไม้ซี้เล็ก เกาะคลุ้ม เกาะใบดั้ง เกาะจาน เกาะกระบุง เกาะรัง เกาะกระดาด เกาะหมาก เกาะกูด ฯลฯ
กองทัพเรือได้ส่งกำลัง ๑ หมวดเรือไปรักษาการณ์บริเวณเกาะช้าง เพื่อใช้เป็นฐานทัพหน้าสำหรับป้องกันการยกพลขึ้นบกของข้าศึก กับเตรียมดำเนินการรุกเมื่อได้รับคำสั่งจากกองบัญชาการทหารสูงสุด สำหรับการลาดตระเวนทางอากาศ จำเป็นต้องใช้เครื่องบินทะเลปฏิบัติการ กองทัพเรือได้สร้างอาคารสถานีวิทยุ คลังเก็บพัสดุ และที่พักนักบินขึ้นบนเกาะง่าม โดยให้เครื่องบินทะเลจอดพักอยู่ในอ่าวทางตอนใต้เขาโค้ง ท้ายเกาะช้างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ฝ่ายฝรั่งเศส โดยนาวาเอกเรจี เบรังเยร์ (Capitaine de vaisseau Régis Bérenge) ได้รับคำสั่งให้โจมตีเมืองชายทะเลไทยตั้งแต่ระยองจนถึงเขตแดนเขมร บีบบังคับให้รัฐบาลไทยถอนกำลังออกจากชายแดนเขมร โดยให้เข้าโจมตีกองเรือไทยที่บริเวณเกาะช้าง
นาวาโท หลวงพร้อมวีระพัยธ์
กำลังเปรียบเทียบ
นาวาเอก เรจี เบรังเยร์
(Captain Regis Berenger)
ฝ่ายฝรั่งเศส
หมวดเรือชั่วคราวที่ ๗ แบ่งออกเป็น ๓ หมู่ ประกอบด้วยเรือต่าง ๆ ดังนี้
หมู่ที่ ๑
เรือลาดตระเวน ลามอตต์ ปิเก้ (Lamotte - Picquet) ระวางขับน้ำ ๗,๘๘๐ ตัน ใช้เป็นเรือบัญชาการ (เรือธง) โดยนาวาเอกเรจี เบรังเยร์
เป็นผู้บังคับการและผู้บังคับหมวดเรือชั่วคราวที่ ๗
หมู่ที่ ๒
เรือดูมองต์ ดูร์วิลล์ (Dumont d’ Urville) ซึ่งเป็นเรือสลุป ระวางขับน้ำ ๒,๑๖๕ ตัน มีนาวาเอก กิแอฟร์กูต์ (Capitaine de vaisseau Toussaint de Quievrecourt) เป็นผู้บังคับการเรือ
เรืออามิราล ชาร์แนร์ (L’ Amiral Chaner) เป็นเรือ สลุป ระวางขับน้ำ ๒๑๖๕ ตัน มีนาวาโทเลอกาล์เวซ์ (Capitaine de frigate le Calvez)
เป็นผู้บังคับการเรือ
หมู่ที่ ๓
เรือช่วยรบ เรือมาร์น (Marne) ระวางขับน้ำ ๖๔๔ ตัน ซึ่งมีนาวาตรีแมร์กา - ดิเอร์ (Capitaine de corvette Mercadier) เป็นผู้บังคับการเรือ
เรือตาอูร์ (Tahure) ระวางขับน้ำ ๖๐๐ ตัน มีนาวาตรีมาร์ค (Capitaine de corvette Marc) เป็นผู้บังคับการเรือ
เรือสินค้าขนาดใหญ่ติดอาวุธ ๑ ลำ
เรือดำน้ำอีก ๑ ลำ
ฝ่ายไทย
ทัพเรือได้จัดกำลังทางเรือ ๑ หมวด ในบังคับบัญชาของนาวาโท หลวงพร้อมวีระพันธุ์ ไปปฏิบัติการอยู่บริเวณเกาะช้าง ประกอบด้วย
เรือหลวงธนบุรี เป็นเรือปืนหนัก ระวางขับน้ำ ๒,๓๕๐ ตัน นาวาโทหลวงพร้อมวีระพันธุ์ เป็นผู้บังคับการเรือและผู้บังคับหมวดเรือ
เรือหลวงสงขลา เป็นเรือตอร์ปิโด ระวางขับน้ำ ๔๖๐ ตัน นาวาตรีชั้น สิงหชาญ เป็นผู้บังคับการ
เรือหลวงระยอง เป็นเรือตอร์ปิโดรุ่นเดียวกับเรือหลวงสงขลา ระวางขับน้ำ ๔๖๐ ตัน นาวาตรีใบ เทศนะสดับ เป็นผู้บังคับการเรือ
เรือหลวงชลบุรี เป็นเรือตอร์ปิโดรุ่นเดียวกับเรือหลวงสงขลา ระวางขับน้ำ ๔๖๐ ตัน เรือเอกประทิน ไชยปัญญา เป็นผู้บังคับการเรือ
เรือหลวงหนองสาหร่าย ระวางขับน้ำ ๔๖๐ ตัน เรือเอกดาวเรือง เพชรชาติ เป็นผู้บังคับการเรือ
เรือหลวงเทียวอุทก ระวางขับน้ำ ๕๐ ตัน
กองเรือไทย
เรือปืนหนัก ธนบุรี ระวางขับน้ำ ๒,๓๕๐ ตัน
เรือตอร์ปิโด สงขลา ระวางขับน้ำ ๔๖๐ ตัน
กองเรือฝรั่งเศส
เรือลาดตระเวน ลามอตต์ ปิเก้ ระวางขับน้ำ ๗,๘๘๐ ตัน
เรือสลุป อามิราล ชาร์เนร์ ระวางขับน้ำ ๒,๑๖๕ ตัน
เรือตอร์ปิโด ชลบุรี ระวางขับน้ำ ๔๖๐ ตัน
เรือสลุป ดูมองต์ ดูร์วิลล์ ระวางขับน้ำ ๒,๑๖๕ ตัน
ภาพแสดงเปรียบเทียบกำลังรบ และขนาดกองเรือรบของงฝ่ายไทย และฝ่ายฝรั่งเศส
ใน “การรบที่เกาะช้าง” เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔
การปฏิบัติการรบ
กำลังทางเรือของฝรั่งเศสได้อาศัยความมืด และความเร็วรุกล้ำเข้ามาทางด้านใต้เกาะช้าง มีจำนวนด้วยกันทั้งหมด ๗ ลำ ซึ่งเรือเหล่านี้ได้แยกออกเป็น ๓ หมู่
หมู่ที่ ๑
เรือลาดตระเวน ลามอตต์ ปิเก้ เข้ามาทางช่องทางด้านใต้ของเกาะหวายและเกาะใบดั้ง
หมู่ที่ ๒
เรือสลุปดูมองต์ ดูร์วิลล์ กับเรืออามิราล ชาร์เนร์ เข้ามาทางช่องด้านใต้ระหว่างเกาะคลุ้มกับเกาะหวาย
หมู่ที่ ๓
เรือมาร์น และเรือตาอูร์ กับเรือปืนอีก ๓ ลำ เข้ามาทางช่องด้านตะวันตก ระหว่างเกาะคลุ้มกับแหลมบางเบ้าของเกาะช้าง
เรือลาดตระเวน ลามอต์ ปิเก้ (The light cruiser Lamotte-Picquet)
เรือสลุปดูมองต์ ดูร์วิลล์ (The sloop Dumont d’ Urville)
เรือสลุปอามิราล ชาร์เนร์ (The sloop Amiral Chamer)
ส่วนเรือดำน้ำและเรือสินค้าติดอาวุธคงรออยู่ด้านนอกในทะเล และไม่ได้เข้าทำการรบ เรือลามอตต์ ปิเก้ ซึ่งเป็นเรือนำได้แล่นเข้ามาในระยะ ๑๒,๐๐๐ เมตร จากเกาะง่าม ได้ระดมยิงอาคารบนเกาะง่าม และเมื่อได้เห็นเรือตอร์ปิโดทั้ง ๒ ลำของไทย คือเรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรีทำการยิง จึงได้เปลี่ยนเป้ามาเป็นทำการยิงเรือตอร์ปิโดทั้งสองทันที
เวลา ๐๖:๑๐ น. เครื่องบินทะเลฝรั่งเศสแบบลัวร์ ๑๓๐ ทำการทิ้งระเบิดโจมตีเรือตอร์ปิโดไทยแต่ถูกยิงตกด้วยปืนต่อสู้อากาศยาน เรือฝรั่งเศสรู้จำนวนเรือไทยจึงเดินหน้าเข้าตีตามแผน แต่กองเรือไทยเริ่มไหวตัวแล้ว และได้โหมเร่งความดันไอน้ำเพื่อเตรียมปฏิบัติการ เมื่อสังเกตเห็นข้าศึกอยู่ในพิสัย เรือหลวงสงขลาจึงเปิดฉากยิงต่อสู้กับเรือลามอตต์ ปิเก้ ที่มีอาวุธหนักกว่ามากแต่ไม่มีมุมยิงตอร์ปิโด เนื่องจากเรือหลวงสงขลาจอดโดยหันหัวเรือไปทางฝั่งเกาะช้าง กระสุนจากเรือลามอตต์ ปิเก้ทำความเสียหายแก่เรือหลวงสงขลา เกิดไฟไหม้กลางลำเรือ น้ำทะลักเข้าตัวเรือ ยุ้งกระสุนน้ำท่วม ลูกเรือเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นาวาตรีชั้น สิงหชาญ ผู้บังคับการเรือหลวงสงขลาสั่งสละเรือใหญ่เมื่อเวลา ๐๖:๔๕ น. หลังจากทำการรบได้ ๓๕ นาที
ในขณะเดียวกัน เรือหลวงชลบุรีได้ทำการยิงต่อสู้กับหมู่เรือสลุปของฝรั่งเศสที่ตรงเข้ามารุมโจมตี ถูกกระสุนที่ท้ายเรือและกลางเรือ เกิดระเบิดไฟลุกไหม้ ลูกเรือเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายนาย เรือเอกประทิน ไชยปัญญา ผู้บังคับการเรือหลวงชลบุรี สั่งสละเรือใหญ่เมื่อเวลา ๐๖:๕๓ น. หลังจากทำการรบได้ประมาณ ๔๐ นาที
แผนที่แสดงเส้นทางการเดินเรือรบไทยและฝรั่งเศส ในการรบที่เกาะช้าง
เวลา ๐๖:๒๐ น. นาวาโท หลวงพร้อมวีระพันธุ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรีสั่งถอนสมอและเคลื่อนลำประจำสถานีรบ และสั่งให้เรือหลวงหนองสาหร่ายและเรือหลวงเทียวอุทก ซึ่งเป็นเรือเล็กให้ถอนตัวออกไปจากสมรภูมิ
เวลา ๐๖:๓๘ น. เรือหลวงธนบุรีประจันหน้าเข้ากับกองเรือฝรั่งเศสและทำการยิงตอบโต้กับเรือลามอตต์ ปิเก้ ที่ระยะ ๑๐,๐๐๐ เมตร การรบเป็นไปอย่างหนักขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อหมู่เรือสลุปของฝรั่งเศสเข้าทำการร่วมรบรุมยิงเรือหลวงธนบุรีด้วย กระสุนนัดหนึ่งจากเรือลามอตต์ ปิเก้ ได้ตกใต้สะพานเดินเรือและเกิดระเบิดขึ้น ทำให้ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรีรวมทั้งนายทหารเสียชีวิต และบาดเจ็บสาหัสหลายนาย ส่งผลให้การบังคับบัญชา การสื่อสาร และการควบคุมหยุดชะงัก ระบบถือท้ายเสียหายบังคับทิศทางไม่ได้
เวลา ๐๗:๑๕ น. เรือหลวงธนบุรีไฟไหม้ แต่ทหารบนเรือที่เหลือเพียงลำเดียวยังคงทำการยิงต่อสู้ โดยสลับเปลี่ยนเป้าหมายไปที่เรือฝรั่งเศสทั้ง ๓ ลำ เมื่อระบบถือท้ายเสียหาย ป้อมปืนไม่ทำงาน (ทหารฝ่ายไทยต้องใช้วิธีการหมุนป้อมปืนด้วยมือเอง) ทำให้การยิงโต้ตอบของเรือหลวงธนบุรีเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังสร้างความเสียหายให้แก่เรือลามอตต์ ปิเก้ได้
เวลา ๐๗:๔๐ น. เครื่องบิน ๑ ลำบินเข้ามาทิ้งระเบิดทะลุดาดฟ้าเรือหลวงธนบุรี มีลูกเรือเสียชีวิต ๓ นาย และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ในขณะที่เรือทั้งหมดยังทำการรบอย่างติดพัน ป้อมปืนที่เหลือของเรือหลวงธนบุรีไม่สามารถยิงได้อย่างแม่นยำเนื่องจากไม่อาจบังคับเรือได้ตรงทิศทาง เรือหลวงธนบุรีได้แล่นลำเข้าสู่บริเวณน้ำตื้น กองเรือรบฝรั่งเศสจึงได้ส่งสัญญาณถอนตัวจากการรบ
เวลา ๐๗:๕๐ น. หลังจากถอนตัวจากการรบ เรือลามอตต์ ปิเก้ ได้ยิงตอร์ปิโดอีกชุดเข้าหาเรือหลวงธนบุรีที่ระยะ ๑๕,๐๐๐ เมตร แต่พลาดเป้าในขณะที่เรือหลวงธนบุรียังทำการยิงต่อสู้อย่างต่อเนื่อง และในที่สุดเรือทั้งหมดได้เคลื่อนออกนอกพิสัยทำการรบ
เวลา ๐๘:๒๐ น. เรือหลวงธนบุรีหยุดยิง
เวลา ๐๘:๔๐ น. นาวาเอกเรจี เบรังเยร์ ออกคำสั่งให้กองเรือฝรั่งเศสมุ่งหน้ากลับฐานทัพ เนื่องจากเกรงกำลังหนุนของไทย โดยเฉพาะเรือดำน้ำ เนื่องจากฝ่ายไทยรู้ตัวแล้ว ในเวลาเดียวกัน หมู่บินที่ ๒ แบบ Hawk ๓ จากกองบินจันทบุรีได้มาถึงและทำการทิ้งระเบิดโจมตีเรือฝรั่งเศส แต่ถูกสกัดด้วยปืนต่อสู้อากาศยานอย่างหนัก ระเบิดลูกหนึ่งตกลงบนเรือลามอตต์ ปิเก้ แต่ไม่ระเบิด ในเวลา ๐๙:๔๐ น. ฝูงบินทิ้งระเบิดบ่ายหน้ากลับ ทำให้กองเรือฝรั่งเศสหลุดรอดออกไปได้ และมุ่งหน้ากลับไปไซ่ง่อน
เวลา ๑๑.๓๐ น. เรือหลวงธนบุรี ถูกจูงมาถึงเขตน้ำตื้นและไม่สามารถลากจูงต่อไปได้ ต้นเรือเรือหลวงธนบุรีจึงสั่งให้ลำเลียงทหารบาดเจ็บลงเรือหลวงช้าง แล้วให้สละเรือใหญ่ ชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง และทหารเรือส่วนหนึ่งยังคงพยายามดับไฟในเรือหลวงธนบุรีต่อไปแต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดเรือหลวงธนบุรีก็จมลงเมื่อเวลา ๑๖.๔๐ น.
แสดงเส้นทางเดินเรือหลวงธนบุรี
แสดงเส้นทางเดินเรือของเรือตาอูร์และเรือามร์น
แสดงเส้นทางเดินเรือสลุปดูมองต์ ดูร์วิลล์, เรืออาราล ชาแนร์
แสดงเส้นทางเดินเรือลาดตระเวนลามอตต์ ปิเก้
๑. เกาะลิ่ม
๒. เกาะพร้าวใน
๓. เกาะพร้าวนอก
๔. เกาะคลุ้ม
๕. เกาะเหลายา
๖. เกาะหวาย
๗. เกาะง่าม
๘. เกาะกระบุง
๙. เกาะไม้ชี้ใหญ่
๑๐. เกาะไม้ชี้เล็ก
๑๑. เกาะจาน
๑๒. เกาะใบตั้ง
๑๓. เกาะกระดาด
๑๔. เกาะหมาก
เรือหลวงธนบุรี
เรือหลวงสงขลา
เรือหลวงชลบุรี
ผลการรบ
ฝ่ายฝรั่งเศส
เรือรบถูกยิงเสียหายหลายลำจนกองเรือฝรั่งเศสต้องล่าถอยออกไปจากน่านน้ำไทย โดยเฉพาะเรือลามอตต์ ปิเก้ นั้นได้รับความเสียหายอย่างหนัก เครื่องบินทะเลถูกยิงเสียหาย ๑ เครื่อง กำลังพลไม่ทราบจำนวนแน่ชัด แต่ทราบว่าเมื่อหมวดเรือกลับถึงฐานทัพเรือที่ไซ่ง่อน มีการขนศพทหารและลำเลียงทหารที่บาดเจ็บลงจากเรือเป็นจำนวนมาก
ฝ่ายไทย
เสียเรือรบไป ๓ ลำ คือ เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรี ทหารเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น ๓๖ นาย แบ่งเป็นทหารประจำเรือ ดังนี้ เรือหลวงธนบุรี ๒๐ นาย รวมทั้งนาวาโท หลวงพร้อมวีระพันธุ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา ๑๔ นาย และเรือหลวงชลบุรี ๒ นาย
สำหรับเรือหลวงธนบุรีนั้น ต่อมากองทัพเรือไทยได้กู้ซากขึ้นมาเพื่อทำการซ่อมใหญ่ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๘๔ แต่เนื่องจากเรือเสียหายหนักมาก จึงได้ปลดระวางจากการเป็นเรือรบและใช้เป็นกองบังคับการลอยน้ำของกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ จนกระทั่งปลดประจำการในปี พ.ศ.๒๕๒๐
ในเวลาถัดมา ทางราชการได้นำส่วนป้อมปืนเรือ และหอบังคับการของเรือหลวงธนบุรีมาจัดตั้งเป็น “อนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี” ภายในโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ
ภาพเรือหลวงธนบุรีถูกไฟไหม้
อนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี ภายในโรงเรียนนายเรือ
จังหวัดสมุทรปราการ
หลังสิ้นสุดการรบในกรณีพิพาทอินโดจีนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเหรียญกล้าหาญเพื่อเชิดชูเกียรติแก่ทหารเรือที่เข้าร่วมรบในสงครามครั้งนี้ทั้งสิ้น ๑๘ นาย (ส่วนใหญ่คือ ผู้ที่เสียชีวิตจากการรบที่เกาะช้าง) และเรือรบอีก ๑ ลำ คือ เรือหลวงธนบุรี โดยรัฐบาลได้จัดพิธีประดับเหรียญกล้าหาญแก่ธงฉานเรือหลวงธนบุรี ธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยทหารต่าง ๆ ตลอดจนทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจสนามที่ปฏิบัติการรบดีเด่นในสงครามครั้งนี้ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๔ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า สำหรับทหารที่เข้าร่วมปฏิบัติการรบในกรณีพิพาทไทย - ฝรั่งเศสทุกนายได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ และได้สิทธิพิเศษตามที่ทางราชการกำหนดไว้ ผู้ที่กระทำการจนได้รับคำชมเชยจากทางราชการจะได้รับพระราชทานเครื่องหมายเปลวระเบิดประดับบนแพรแถบด้วย
พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร
ทหารผ่านศึกจากเรือหลวงธนบุรี
จากเหตุการณ์ดังกล่าว มหาอำนาจญี่ปุ่นได้เสนอตัวเป็นคนกลาง เพื่อไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ ไทยและฝรั่งเศสตกลงยอมรับแผนไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นหัวหน้าผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายไทยและนายชาร์ลส์ อาแซน อองรี (Charles Arsene Henry) เป็นตัวแทนฝ่ายฝรั่งเศส มีการลงนามข้อตกลงฉบับย่อเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามอนุสัญญาฉบับเต็มที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ สัญญามี ๑๒ ข้อตามสนธิสัญญาสันติภาพโตเกียว พ.ศ.๒๔๘๔ ฝ่ายไทยได้ดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ดังนี้
ไทยได้ดินแดนที่เสียไปโดยสนธิสัญญาปีพุทธศักราช ๒๔๔๗ คืนทั้งหมด คือ ดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบางดินแดนจำปาศักดิ์ตรงข้ามปากเซ และดินแดนในกัมพูชาที่ได้เสียไปโดยสนธิสัญญาฉบับนั้นด้วย
มณฑลบูรพา (พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ) ที่ไทยได้เสียไปโดยสนธิสัญญาปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ไทยได้คืนเฉพาะจังหวัดศรีโสภณและพระตะบองฝั่งทะเลสาบ แต่เสียมราฐ และนครวัดยังคงเป็นของฝรั่งเศสอยู่
ไทยได้ดินแดนในกัมพูชา หรือขีดเส้นโค้งจากเวิ้งนครวัดลงไปถึงแม่น้ำโขงตอนใต้และสตรึงแตรง
กำหนดร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดนในลำแม่น้ำโขง ไทยได้เกาะดอนซึ่งอยู่ทางขวาของร่องน้ำลึกคืน
ดินแดนที่ไทยได้รับคืนจากฝรั่งเศสตามสัญญาสันติภาพโตเกียว พ.ศ.๒๔๘๔
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดไทยต้องยกดินแดนดังกล่าวคืนให้ฝรั่งเศส
จะเห็นได้ว่าการที่ฝรั่งเศสจำต้องยกดินแดนคืนให้ไทยนั้น เป็นเพราะฝรั่งเศสปราชัยในการรบต่อฝ่ายอักษะในยุโรป และต้องลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับเยอรมนี ผลจากการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยได้ดินแดนคืนประมาณ ๙๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร และได้จัดตั้งเป็นจังหวัดขึ้นใหม่ ๔ จังหวัด คือ
จังหวัดพระตะบอง รวมเมืองพระตะบองและศรีโสภณเป็นจังหวัดพระตะบองมีทั้งหมด ๖ อำเภอ คือ อำเภออทึกเดวเดช อำเภอเมืองพระตะบอง อำเภอมงคลบุรี อำเภอศรีโสภณ อำเภอสินธุสงครามชัย และอำเภอไพลิน
จังหวัดพิบูลสงคราม คือ เมืองเสียมราฐในส่วนที่ได้มานอกจากนครวัด เปลี่ยนชื่อให้เป็นเกียรติแก่พลตรีหลวงพิบูลสงคราม มีทั้งหมด ๖ อำเภอ คือ อำเภอไพรีระย่อเดช อำเภอกลันทบุรี อำเภอพรหมขันธ์ อำเภอเกรียงศักดิพิชิต อำเภอวารีแสน และ อำเภอจอมกระสานต์ (ภายหลังย้ายไปขึ้นไปจังหวัดจำปาศักดิ์)
จังหวัดนครจำปาศักดิ์ ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามเขตจำปาศักดิ์ของแคว้นลาว มีทั้งหมด ๔ อำเภอ คือ อำเภอเมืองจำปาศักดิ์ อำเภอมูลปาโมกข์ อำเภอมโนไพร และ กิ่งอำเภอโพนทอง
จังหวัดล้านช้าง ได้แก่ดินแดนหลวงพระบางฝั่งขวา อันเป็นแคว้นปากลาย ซึ่งฝรั่งเศสยึดไปใน พ.ศ.๒๔๔๖ มีทั้งหมด ๔ อำเภอคือ อำเภอสะมาบุรี อำเภออดุลเดชจรัส อำเภอเชียงฮ่อน และอำเภอหาญสงคราม
รัฐบาลไทยได้ประกาศแต่งตั้งจังหวัดใหม่ทั้ง ๔ จังหวัดนี้ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๔ แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม ไทยต้องยอมเซ็นสัญญาคืนดินแดนพิพาทให้ฝรั่งเศสไปทั้งหมดที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๙ หลังจากครอบครองได้เพียง ๕ ปีกว่า ๆ เมื่อสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงไป สภาพความเป็นมิตรและศัตรูเปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสได้กลับมีความอบอุ่นและใกล้ชิดกันอีกครั้งหนึ่งมาจนกระทั่งทุกวันนี้