กระดานข่าว
วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ก.ย.๖๗ คณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านศรัทธาตะพง ต.เขาแก้ว อ.ท่าใหม่ จว.จันทบุรี “จัดโครงการศึกษาเรียนรู้นอกสถานที่ สร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้นอกห้องเรียนอันเป็นประโยชน์” เข้าศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเข้าเยี่ยมชมอาคารโบราณสถานภายในพื้นที่ค่ายตากสิน จำนวน ๑๐๐ คน
วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ก.ย.๖๗ คณะครูและนักเรียนโรงเรียนวัดเกาะขวาง (สังวาลย์ราษฎร์รังสรรค์) ต.จันทนิมิต อ.เมือง จว.จันทบุรี ระดับชั้นอนุบาลปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖“จัดกิจกรรมทัศนศึกษาให้กับนักเรียนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ สร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้นอกห้องเรียนอันเป็นประโยชน์” เข้าศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเข้าเยี่ยมชมอาคารโบราณสถานภายในพื้นที่ค่ายตากสิน จำนวน ๑๓๘ คน
วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ก.ย.๖๗ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรีได้กำหนดจัดกิจกรรมจิตอาสา ๓ ศาสนาสามัคคี นำคณะครูและนักเรียนเด็กเยาวชน และศาสนิกชน ๓ ศาสนา “ภายใต้โครงการ ศาสนิกสัมพันธ์จังหวัดจันทบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๗” เข้าศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเข้าเยี่ยมชมอาคารโบราณสถานภายในพื้นที่ค่ายตากสิน จำนวน ๕๐ คน
วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ส.ค.๖๗ คณะครูและนักเรียนศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอนายายอาม อ.นายายอาม จว.จันทบุรี “จัดโครงการค่ายพัฒนาคุณภาพ ผู้เรียนรู้ศึกษาแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๗” เข้าศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเข้าเยี่ยมชมอาคารโบราณสถานภายในพื้นที่ค่ายตากสิน จำนวน ๕๐ คน
โบราณสถานในค่ายตากสิน หรือ " โบราณสถานค่ายทหารฝรั่งเศส สืบเนื่องจากวิกฤตการ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหลักฐานทาง ประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลืออยู่จากสมัยที่มีการล่าอาณานิคม ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ซึ่งฝรั่งเศสเรียกร้องค่าเสียหายจากสยาม ในระหว่างการเจรจาเรียกค่าชดเชย กองทหารฝรั่งเศสได้เข้ายึดจันทบุรีไว้เป็นประกัน และตั้งค่ายทหารขึ้นบริเวณบ้านลุ่ม หรือบริเวณที่เป็นค่ายตากสินในปัจจุบัน
ค่ายตากสินจันทบุรี เป็นสถานที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ กองพลนาวิกโยธิน อยู่ที่บริเวณ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี เมืองจันทบุรีโบราณที่บ้านลุ่ม มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงยกทัพมาตีเมืองจันทบุรีแล้วยึดเป็นที่ตั้งมั่นในการเตรียมการกู้ชาติหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าในปี พ.ศ.๒๓๑๐
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ หรือ ร.ศ.๑๑๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสได้ใช้กำลังบีบบังคับและยื่นคำขาดให้ไทยยกดินแดนของลาวทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงกับเขมรส่วนนอกซึ่งเคยเป็นประเทศราชของไทยให้กับฝรั่งเศส ในระหว่างที่รอให้สัญญาต่าง ๆ มีผลบังคับใช้ ฝรั่งเศสยึดจันทบุรีไว้เป็นประกันจนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๗ เหตุผลที่เลือกยึดเมืองจันทบุรีก็เพราะเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ เป็นจุดที่ควบคุมอ่าวสยามที่ติดต่อกับแหลมมลายูของอังกฤษ เป็นทางผ่านเข้าไปยังสามจังหวัดของไทยที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดด้านทรัพยากรธรรมชาติซึ่งได้แก่ บ่อพลอย บ่อไพลิน ในเขตเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ
กองทหารฝรั่งเศสได้ตั้งค่ายทหารขึ้นในบริเวณบ้านลุ่ม หรือบริเวณที่เป็นค่ายตากสินในปัจจุบันและที่ปากน้ำแหลมสิงห์ รวมทั้งได้สร้างสิ่งปลูกสร้างอีกหลายหลัง ปัจจุบันหลักฐานร่องรอยทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับจันทบุรีที่บ้านลุ่ม ปรากฏให้เห็นอยู่ภายในค่ายตากสินเท่านั้น อาคารที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นและยังคงอยู่ถึงปัจจุบันได้แก่
อาคารกองรักษาการณ์
อาคารที่พักทหารฝรั่งเศส
อาคารคลังพัสดุ
อาคารกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส
อาคารที่คุมขังทหารฝรั่งเศส
อาคารคลังกระสุนดินดำ(คส.๕)
อาคารคลังกระสุนดินดำ(คส.๖)
ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรีเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ค่ายทหารฝรั่งเศสในบริเวณค่ายตากสินได้มีการใช้งานสืบต่อมา ดังนี้
พ.ศ.๒๔๗๒ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาบาล และบ้านพักของข้าราชการฝ่ายปกครอง
พ.ศ.๒๔๗๙ เป็นที่ตั้งกองทหารม้า ม. พัน. ๔
พ.ศ.๒๔๘๘ เป็นที่ตั้งของพัน. นย. ๓ (กองพันทหารราบนาวิกโยธิน ๓)
พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นที่ตั้งกองป้องกันพิเศษ จันทบุรี
พ.ศ.๒๔๙๘ ได้มีคำสั่งขยายกำลังกองป้องกันพิเศษ จากกำลัง ๑ กองร้อยเป็นกองพัน ชื่อว่าพัน. ร.๒ นย. ต่อมาได้แปรสภาพเป็นกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ กรมผสมนาวิกโยธิน เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๑ ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น กองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๓๒
กลุ่มอาคารโบราณสถานที่สร้างขึ้นในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันทบุรีได้รับการบูรณะปรับปรุงและใช้งานมาตลอด แต่การบูรณะที่ผ่านมาทำได้ในวงจำกัดเนื่องจากขาดงบประมาณและความรู้ในการบูรณะอาคารโบราณสถาน ทำให้อาคารต่าง ๆ อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก อาคารเหล่านี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลืออยู่จากสมัยที่มีการล่าอาณานิคม ซึ่งการเสียดินแดนให้แก่ประเทศมหาอำนาจที่แสวงหาเมืองขึ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากแต่ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงตัดสินพระทัยยอมเสียดินแดนบางส่วนเพื่อแลกกับการถูกครอบครองทั้งหมดทำให้สยามรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส
กองกำลังทหารฝรั่งเศส ตั้งค่ายที่เมืองจันทรบุรี
งานสมโภชเมืองจันทบุรีในเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗
ภายหลังทหารฝรั่งเศสถอนกำลังจากจันทบุรี
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม และกรมศิลปากรได้ร่วมกันสำรวจเพื่อทำแผนบูรณะ พบปัญหาต่าง ๆ ดังนี้
ปัญหาความชื้น หลังคารั่วซึมเนื่องจากวัสดุหมดสภาพ ทำให้ผนังเปื่อยยุ่ยและพบมีการทำลายจากปลวกในทุกอาคาร
การทรุดตัวของโครงสร้าง
กรอบและบานประตูหมดสภาพ ผุพัง บางส่วนถูกเปลี่ยนใหม่ ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยของอาคาร
เนื่องจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติดังที่กล่าวแล้ว และอยู่ในสภาพที่ต้องบูรณะอย่างรีบด่วน มูลนิธิฯ จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษาของมูลนิธิฯ ให้ทรงทราบ และทูลเชิญเสด็จฯ เปิดโครงการบูรณะโบราณสถานในค่ายตากสิน ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๑ ต่อจากนั้นได้จัดหาทุนและดำเนินการบูรณะอาคารโบราณสถานต่าง ๆ โดยเน้นให้คงรูปแบบเดิมตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เสริมความแข็งแรงของตัวอาคาร แก้ไขเรื่องการรั่วซึมซึ่งทำให้เกิดความชื้น และกำจัด และป้องกันปลวก งานบูรณะได้ดำเนินต่อเนื่องมาจนเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ในระหว่างนั้น มูลนิธิฯ ได้เตรียมหาข้อมูลเพื่อจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์ โดยเน้นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาคารโบราณสถาน ซึ่งได้แก่ พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และความสัมพันธ์ไทย – ฝรั่งเศส ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีประวัติของค่ายตากสินนับตั้งแต่ฝรั่งเศสออกจากจันทบุรีจนถึงปัจจุบัน ประวัติความเป็นมาของเมืองจันทบุรี และข้อมูลการอนุรักษ์โบราณสถานในค่ายตากสิน
ในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษาของมูลนิธิฯ ได้เสด็จฯ เปิดอาคารโบราณสถานที่ได้บูรณะแล้ว และทอดพระเนตรนิทรรศการที่ได้จัดขึ้น หลังจากนั้นได้เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของประวัติศาสตร์ของประเทศไทยแห่งนี้ต่อไป